วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ม.ราชภัฏภูเก็ต“วันภาษาไทยแห่งชาติ ร่วมสืบสานความเป็นไทย”

นศ.ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ม.ราชภัฏภูเก็ต ร่วมสืบสานความเป็นไทย จัดวันภาษาไทยแห่งชาติรวมสืบสานความเป็นไทย พร้อมจัดกิจกรรมตางๆจำนวนมาก
      
       วันที่ 27 ก.ค.54 โปรแกรมวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จัดงาน วันภาษาไทยแห่งชาติขึ้นที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในด้านภาษาไทย และมีการกำหนด วันภาษาไทยแห่งชาติตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี
      
       โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาษาไทยในฐานะเป็นภาษาประจำชาติ รวมถึงเป็นการกระตุ้นเตือนให้ทุกคนเห็นความสำคัญของภาษาไทย หันมาใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ตลอดจนเป็นการทำนุบำรุง ส่งเสริมและร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย
      
       สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ตได้จัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เช่น การจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับวันภาษาไทย การจัดนิทรรศการจำลองเมืองภูเก็ต ซึ่งมีการนำเสนอ เอกลักษณ์ด้านการแต่งกาย ลักษณะของตึก อาคาร บ้านเรือน อาหาร เป็นต้น กิจกรรมการแข่งขันคัดไทย การประกวดออกแบบตัวอักษรไทย การแสดงแฟชั่นโชว์ ชุดไทยในยุคไซเบอร์การแสดงหนังตะลุง ภาษาใต้ คนใต้...หรอยจังฮู้การแข่งขันร้องเพลงลูกทุ่งประกอบรีวิว การแสดงละคร การเล่านิทานพื้นบ้าน ฯลฯ โดย รศ.สมชาย สกุลทัพ รองอธิการบดี เป็นประธานเปิดงาน มีครู นักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมกว่า 1,000 คน
      
       รศ.สมชาย กล่าวว่าประเทศไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ เป็นสิ่งแสดงออกถึงความเป็นเอกราชที่ควรค่าแก่ความภาคภูมิใจ และภาษายังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ชาติดำรงอยู่ได้อย่างเป็นปึกแผ่น เพราะคนที่พูดภาษาเดียวกันย่อมมีความรู้สึกผูกพัน รักใคร่กลมเกลียว จึงนับว่าภาษาเป็นสื่อสำคัญที่ช่วยให้คนในชาติเกิดความสมานสามัคคีกัน อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า ในปี 2558 นั้น เมื่ออาเซียนรวมตัวกันเป็น 1 เดียว จะมีภาษาหลากหลายเข้ามายังสังคมไทยเรา และบางครั้งเรานำมาใช้และคิดว่าเป็นภาษาไทย ใช้สื่อสารผสมผสานกับภาษาไทย
      
       โดยเฉพาะเยาวชนรุ่นใหม่มักนำไปใช้ ภาษาไทยเราอาจเลือนไปจากสังคมไทยเราได้ ดังนั้นการจัดกิจกรรมปลูกจิตสำนึก ระลึก และเตือนสติเรา นับเป็นสิ่งสำคัญจำเป็น เพื่อให้เรารู้ และเห็นถึงความสำคัญของภาษาไทย ไม่ให้ทอดทิ้ง และจะต้องร่วมกันดูแลรักษา หวงแหนไว้ให้คงอยู่สืบไป
ข้อมูลจาก...ผู้จัดการ ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: